รูปแบบหรือตัวแบบแห่งการวิจักษณ์

รูปแบบ หรือตัวแบบ (Model) แห่งการวิจักษณ์

เพื่อจะให้เข้าใจกันมากขึ้นเกี่ยวกับคำว่า รูปแบบ ที่เป็นวิธีวิทยาของมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์  ผมลองพยายามจะอธิบาย และสรุปความจากแนวคิดต่างๆ  และเป็นความหมายที่อยู่ในแนวทางของมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ ด้วย

  1. รูปแบบ หมายถึง สิ่งที่สร้างขึ้น กำหนดขึ้นมา หรือพัฒนาขึ้นมา หรือชุดชองคำที่กำหนดขึ้น เพื่อแสดงให้เห็นถึงองค์ประกอบที่สำคัญของเรื่องราว หรือของผลงาน ที่ทำให้เราเข้าใจง่ายขึ้น เพื่อใช้เป็นแนวทางในการดำเนินการต่อไป ใช้เป็นแนวทางในการประพฤติปฏิบัติ การก่อสร้าง การเลียนแบบ หรือการต่อยอด เช่น เขาทำธุรกิจมายาวนาน และประสบความสำเร็จอย่างดีเยี่ยม ซึ่งประสบการณ์ที่ยาวนานของเขา เราจะเข้าใจยากมาก ต้องอธิบายยาวเหยียด แต่พอถอดเป็นรูปแบบออกมาเสนอ เข้าใจง่ายมาก และเข้าใจทันที เหมือนกับนำเอาแก่นสาระออกมาวางให้เห็นง่ายที่จะเข้าใจ ไม่ใช่การอธิบายรายละเอียดทุกแง่ทุกมุม
  2. รูปแบบ หมายถึง แบบจำลองสภาพความเป็นจริงของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง หรือของชีวิต ที่เกิดจากการลดทอนเวลา สถานที่ลง ไม่ได้เอาทุกเรื่องมาพูดหรือมานำเสนอ ไม่ได้สถานที่ตั้ง วัตถุทั้งหมดมานำเสนอ แต่ลดขนาดให้เหลือแต่สาระสำคัญ การลดย่อความจริงหรือปรากฏการณ์ หรือให้เห็นแต่ส่วนสำคัญ แต่ก็ยังเห็นสาระสำคัญของสิ่งนั้น หรือคนนั้น ๆ และทั้งหมดที่เสนอเป็นรูปแบบ เราจะเห็นความสัมพันธ์ของสิ่งนั้น ๆ ด้วย เพื่อค้ำจุนให้สิ่งนั้นอยู่ได้ หรือเป็นสาระคัญของการดำเนินชีวิตที่สำคัญที่ทำให้เขาประสบความสำเร็จในชีวิต แต่ละสาระก็สัมพันธ์กันอีกด้วย ซึ่งมักจะเขียนเป็นโครงสร้างสัมพันธ์ หรือองค์ประกอบสัมพันธ์กันได้
  3. รูปแบบ หมายถึง เครื่องมือทางความคิด หรือมโนทัศน์ (Conceptualize) หรือสิ่งที่ประดิษฐ์ ที่เราจะใช้ในการอธิบายหรือหาคำตอบ หรือองค์ความรู้สำคัญ หรือให้เข้าใจปรากฏการณ์ต่างๆ ที่มีความซับซ้อน ความคิดของเราเกี่ยวกับเรื่องนั้น ๆ มีจุดมุ่งหมายที่จะให้เกิดความกระจ่างแจ้งชัดเจนในความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้น ที่เป็นสาระหรือแก่นแท้ของเรื่องราว หรือปรากฏการณ์ ด้วยคำถามง่าย ๆ มันมีกี่ข้อ อะไรบ้าง แต่ละข้อมันเป็นอย่างไร
  4. รูปแบบ หมายถึง รูปแบบของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพื่อเป็นแนวทางของการสร้าง หรือการทำซ้ำ เพื่อเป็นตัวอย่างการเลี่ยนแบบ เช่น รูปแบบของการออกเสียง รูปแบบของการทำธุรกิจ รูปแบบของการบริหาร รูปแบบของการทำการค้า เป็นต้น
  5. รูปแบบ เป็น แบบจำลองของการทำงาน หรือเป็นแบบจำลองของการก่อสร้าง เป็นตัวแทนของการแสดงความคิดที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือคาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต หากเราทำตามแบบแปลนบ้าน ก็จะได้บ้านตามแบบแปลนค่อนข้างแน่นอน ถ้าทำตามแบบจำลองของที่จะประสบความสำเร็จ ก็คาดการณ์ว่าจะประสบความสำเร็จแน่นอน รูปแบบจึงทำนายอนาคตได้ ทดสอบได้ สังเกตเห็นเป็นจริงได้ ช่วยให้เรามีจินตนาการไปสู่อนาคตได้ ให้เราเกิดความใฝ่ฝันตามตัวแบบที่เราอยากจะเป็นเหมือนเขา

ความหมายของรูปแบบดังกล่าวข้างต้น จึงแสดงถึงการ “วิจักษณ์” ของนักศึกษา ที่ผ่านการศึกษา “วิจัย” มาอย่างยาวนาน เราจึงมักพูดกันว่า ชีวิตก็คือการวิจัย คือการค้นหาความสำเร็จ ด้วยการลองผิดลองถูก เป็นการเรียนรู้แบบมหาวิทยาลัยแห่งชีวิต  เอางาน เอาความรับผิดชอบ เอาประสบการณ์ทั้งชีวิต เป็นห้องเรียน เป็นสนามวิจัย รวมทั้งความสำเร็จและความล้มเหลว จากการวิจัยนี้

วิจักษณ์ จึง เป็นผลจากการวิจัย หรือ การวิจัย เป็นมรรควิธี  แต่วิจักษณ์ เป็นนิโรธ คือการบรรลุแล้ว  

มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ เน้น การวิจักษณ์ คือการเชิญชวนผู้ประสบความสำเร็จในชีวิตแล้วมาเรียนระดับปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เพราะเราเห็นว่า ต้องการเก็บรวบรวมองค์ความรู้ หรือเราต้องการการจัดการความรู้  คนเหล่านี้ มีมากมาย แต่ขาดโอกาสที่จะมาถอดความรู้ รวมถึงการขาดโอกาสการได้รับปริญญา  ปริญญา = การรู้อย่างรอบด้าน ส่วนคนที่ยังไม่ได้รู้อย่างรอบด้าน หรือยังไม่มีผลงานความสำเร็จ หากต้องการจะเข้ารับปริญญาจากมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์  ขอให้กลับไปลงมือทำอย่างจริงจัง ตามที่สนใจ เพื่อให้สามารถตกผลึกและมาเข้ารับการประเมิน

มหาวิทยาลัยรู้สึกผิดหวังบ้าง ที่บางคน ยังไม่มีผลงานอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน ไม่มีความสำเร็จใด ๆ แต่อยากจะมาขอเข้ารับการประเมินจากมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ ความอยากเป็น “ดร.” บางทีไม่มองคุณสมบัติของตนเอง

มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ จึงมักจะย้ำอยู่เสมอในการอธิบายให้กับนักศึกษาปริญญาเอกว่า อะไร คือความสำเร็จของนักศึกษา (นั่นคือหัวดุษฎีนิพนธ์) อะไรคือสิ่งที่นักศึกษาจะแนะนำคนอื่น ว่า หากต้องการความสำเร็จอย่างที่นักศึกษาสำเร็จแล้ว จะแนะนำอย่างไร จะบอกเขาอย่างไรบ้าง เพื่อให้เขาได้เข้าใจตัวแบบ และนำไปเลียนแบบ นำไปพัฒนาให้เกิดความสำเร็จเช่นเดียวกันกับนักศึกษา นี่ก็คือการเขียนในบทที่ 3 หรือบทสุดท้าย อันเป็นการตกผลึกทางความคิดและประสบการณ์ของนักศึกษา บางทีเราก็อธิบายว่า “น้ำกะทิของมะพร้าว” ที่ถูกคั้นมาเรียบร้อยแล้ว

อย่างไรก็ตาม มหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ ไม่เพียงแต่ต้องการเห็นรูปแบบ ที่เป็นการตกผลึกของชีวิตและประสบการณ์ของนักศึกษาเท่านั้น เรายังต้องการเห็นชุดประสบการณ์ที่อยู่ในบทที่ 2 ที่จะเป็นข้อมูลเชิง “ประจักษ์” นั่นคือการบอกเล่าชีวิตและการทำงานอย่างละเอียดชัดเจน นั่นก็คือ “กาก” ของมะพร้าวที่ถูกขีดมาเรียบร้อยแล้ว พร้อมที่จะถูกคั้นเป็นน้ำกะทิ ในบทที่ 3

ปัญหาของการเขียนบทที่ 3 หรือการอธิบายถึงกากมะพร้าว หรือชุดประสบการณ์ ของนักศึกษาจำนวนหนึ่งก็คือ ไปลอกจากเอกสาร จากตำรา ลอกงานของคนอื่นมาใส่ เขียนมานิดเดียวทั้งที่ประสบการณ์เยอะ หรือกากเยอะ หรือไม่มีกาก ไม่มีประสบการณ์ให้มาเขียน ประสบการณ์ไม่พอ น้ำหนักของกากไม่พอจะคั้นเป็นกะทิ กรรมการประเมินของเราบางทีก็เข้าข้างนักศึกษา ประเมินให้ผ่านเข้ามารับปริญญา หรือบางทีกรรมการก็ถูกนักศึกษาหลอก จับไม่ได้ ไล่ไม่ทัน ก็ชื่นชมกับผลงานที่นักศึกษาไปลอกคนอื่นมา

วิธีวิทยาว่าด้วยวิจักษณ์  จึงไม่เพียงแต่วิธีการใหม่ของมหาวิทยาลัยโพธิศาสตร์ แต่ยังต้องความศรัทธาของคณะผู้บริหาร และการร่วมกำกับ เข้มงวด เพื่อให้พ้นจากกรอบคิดเดิม ๆ ประสบการณ์เดิมๆ ของกลุ่มนักล่าปริญญา

 

ศักดิ์ ประสานดี

Related posts

วิธีวิทยาว่าด้วยวิจักษณ์

แบบฟอร์มการเขียนดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอก

Guidelines for Dissertation Defense Evaluation (PhD.)